8 เมษายน 2554

ผู้หญิงกับปืน


ผู้หญิงกับปืน
 ผู้หญิงกับปืน  เหมือนและต่างกันอย่างไร
อาจกล่าวได้ว่ามันต่างกัน เพราะผู้หญิงเป็นสิ่งมีชีวิต  และปืน เป็นสิ่งไม่มีชีวิต เป็นอาวุธ  แต่ดิฉันคิดว่ามันเหมือนกัน   คือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยืมกันใช้ได้ทั้ง 2 อย่าง เราต้องดูแลเอาใจใส่และเก็บรักษาอย่างดี   ก่อนหน้านี้ดิฉันเป็นคนกลัวและตกใจกับเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็น ปะทัด เสียงพุ  จนได้เจอผู้พันหญิงท่านหนึ่ง กำลังซ้อมยิงปืนที่สนามยิงปืน ค่ายนเรศวร จังหวัดประจวบคีรีขัน ซึ่งดูท่านเป็นผู้หญิงที่ สง่างาม สวย และน่าเกรงขาม   จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้  ดิฉันได้ซ้อมยิงปืนครั้งแรก โดยรุ่นพี่คนหนึ่งเป็นคนฝึกสอนให้ นั้นคือ  ผู้หมวดสมศักดิ์   จากพลร่มป่าหวาย จังหวัดลพบุรี  ได้เรียนรู้กฎแห่งความปลอดภัยของการใช้อาวุธปืน ดังนี้

1. เมื่อจับปืนทุกครั้งให้พึงระลึกเสมอว่าปืนทุกกระบอกมีกระสุนบรรจุอยู่

2. ตรวจปืนทุกครั้งที่จับว่ามีกระสุนบรรจุอยู่หรือไม่ มีวัสดุใดติดค้างอยู่ในลำกล้องหรือไม่

3. อย่าเล็งปืนไปที่บุคคล สิ่งมีชีวิต หรือสิ่งของมีค่า ถ้าผู้ยิงไม่ต้องการยิง

4. อย่าเล็งปืนไปทางวัสดุอื่นใดที่อาจทำให้หัวกระสุนปืนสะท้อนกลับหรือแฉลบได้ เช่นวัสดุที่มีผิวแบนแข็ง ผิวน้ำ

5. อย่าพูดคุยกับผู้อื่นในขณะยิงปืน

6. อย่าทิ้งปืนที่บรรจุกระสุนปืนไว้ในที่ซึ่งมีบุคคลอื่น โดยเฉพาะเด็กอาจหยิบฉวยเอาไปเล่นได้ง่าย

7. อย่าหันปากกระบอกปืนไปทางด้านข้างหรือด้านหลัง ขณะจับปืนอยู่ในแนวยิง

8. เมื่ออยู่ในห้องฝึกหรือสนามยิงปืนต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้ควบคุมการฝึกอย่างเคร่งครัด

9. ถ้าไม่เก็บปืนไว้ในซองปืน ต้องจับในลักษณะเปิดลูกโม่ หรือให้โครงเลื่อนปืนอยู่ในลักษณะค้างโครงเลื่อนปืนไว้

10. การส่งปืนให้ผู้อื่น ต้องส่งปืนในลักษณะเปิดลูกโม่ หรือให้โครงเลื่อนปืนอยู่ในลักษณะค้างโครงเลื่อนปืนไว้
              จากวันนั้นเป็นต้นมา ดิฉันจึงรักการซ้อมยิงปืน ถึงว่าแม้ว่าจะยังไม่หายจากการตกใจกลัวกับเสียงดัง แต่ก็ทำให้ดิฉันเป็นคนสมาธิ หนักแน่น และใจเย็นขึ้น   หากไม่ได้ไปซ้อมยิงปืนจริง ก็จะไปซ้อมยิงปืน บีบีกัน แทน  จะเห็นได้ว่าปืนกับผู้หญิง สามารถเข้ากันได้ดี  แต่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ดี

9 กุมภาพันธ์ 2554

สอบประเมินวิชาโครงการ

วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว ได้จัดสอบประเมินวิชาโครงการ  สำหรับนักเรียน ระดับชั้น  ปวช.  3 และ ปวส. 2 ทุกแผนกวิชา  ในวันที่  9  กุมภาพันธ์  2554   เป็นการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานของนักเรียนนักศึกษาซึ่งสามารถพัฒนาและต่อยอดผลิตภัฑณ์ ชิ้นงาน  เป็นสิ่งประดิษฐ์ได้  

27 มกราคม 2554

งบการเงิน (Financial Statement) คืออะไร?

งบการเงิน คืออะไร?
          งบการเงิน (Financial Statement) หมายถึง รายงานข้อมูลทางการเงินที่ได้จัดทำขึ้นจากข้อมูลทางการเงิน ที่กิจการได้จดบันทึกไว้ในรอบระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินการ ฐานะการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของกิจการ ในรอบระยะเวลานั้นๆ


วัตถุประสงค์ของการจัดทำงบการเงิน 
          งบการเงินถูกจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงานและการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของกิจการ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน ทุกประเภทในการนำไปใช้ตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ เจ้าหนี้ นักลงทุน ฝ่ายบริหาร บริษัทคู่ค้า ลูกค้าของบริษัท
          งบการเงินแสดงผลการบริหารงานของฝ่ายบริหารหรือความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารในการบริหารทรัพยากรของกิจการ ผู้ประกอบการสามารถใช้งบการเงินมาประเมินผลการบริหารงาน หรือความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร เพื่อใช้ในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจนี้ อาจรวมถึงการตัดสินใจขาย หรือถือเงินลงทุนในกิจการต่อไป หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจโยกย้าย หรือเปลี่ยนผู้บริหาร
          ข้อมูลต่างๆ ในงบการเงินไม่เพียงแต่มีประโยชน์กับผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์กับเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น บริษัทคู่ค้า ลูกค้า และบุคคลอื่นที่สนใจในกิจการ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนภายนอก หากเป็นบริษัทที่มีการจดทะเบียนในตลาดหุ้น อีกทั้งรัฐบาลยังใช้ประโยชน์จากงบการเงินในการคำนวณภาษีที่จะเรียกเก็บจากกิจการอีกด้วย


ระยะเวลาในการจัดทำงบการเงิน 
          งบการเงินจัดทำขึ้นอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อสนองความต้องการข้อมูลของผู้ใช้งบการเงินทุกประเภท เนื่องจากผู้ใช้งบการเงิน ต้องการเปรียบเทียบฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของกิจการ สำหรับรอบระยะเวลาที่ต่างกัน ดังนั้น งบการเงินจึงแสดงข้อมูลของรอบระยะเวลาที่ผ่านมาด้วย เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินการ


ส่วนประกอบของงบการเงิน 
          งบการเงินประกอบด้วย
  1. งบดุล (Balance Sheet)
  2. งบกำไรขาดทุน (Income Statement)
  3. งบกำไรสะสม (Retained Earning Statement)
  4. งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow)
  5. หมายเหตุประกอบงบการเงิน (Notes to Financial Statements)


การจำแนกรายการในงบการเงิน 
          รายการในงบการเงินสามารถจำแนกได้ 5 ประเภท คือ สินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนทุน (ส่วนของเจ้าของ) รายได้ และค่าใช้จ่าย เมื่อจัดทำบัญชีและรายงานสรุปเป็นงบการเงิน คือ งบดุล และงบกำไรขาดทุนในสิ้นงวดของกิจการแล้ว รายการประเภท สินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนทุน จะแสดงในงบดุลอันเป็นงบแสดงฐานะทางการเงินของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง ส่วนรายได้และค่าใช้จ่าย จะแสดงในงบกำไรขาดทุน ซึ่งเป็นงบแสดงผลการดำเนินงานของกิจการในช่วงระยะเวลาหนึ่ง



งบการเงินบอกอะไรได้บ้าง


          ความสัมพันธ์ที่ปรากฏดังภาพข้างบนนี้ แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันของงบการเงินประเภทต่างๆ โดยเริ่มจากงบดุล 1 มกราคม 25X1 ที่แสดงกำไรสะสมเท่ากับ 380,000 บาท เมื่อกิจการดำเนินผ่านไป 1 ปี รายการกำไรสะสมของงบดุลจะถูกกระทบด้วยผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ กำไรสะสมจะเพิ่มเท่ากับกำไรสุทธิในงวดนั้น หรือลดลงเท่ากับขาดทุนสุทธิในงวดนั้นเช่นกัน และถ้ามีการจ่ายปันผลก็จะหักออกไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นกำไรสะสม ณ 31 ธันวาคม 25X1 จะเพิ่มเท่ากับกำไรสุทธิของงวดหักด้วยเงินปันผลจ่ายที่แสดงในงบกำไรสะสม เท่ากับ 612,000 บาท

          ความสัมพันธ์ของงบกระแสเงินสดกับงบดุล รายการที่จะกระทบก็คือเงินสดที่ปรากฏในงบดุล จากภาพด้านบน เราเริ่มงบดุล 1 มกราคม 25X1 ที่แสดงเงินสดเท่ากับ 40,000 บาท เมื่อ กิจการดำเนินผ่านไปอีก 1 ปี รายการเงินสดของงบดุล จะถูกกระทบด้วยกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามที่แสดงในงบกระแสเงินสดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในกรณีนี้ก็คือเงินสดในงบดุล ณ 31 ธันวาคม 25X1 จะเพิ่มเท่ากับเงินสดสุทธิที่แสดงในงบกระแสเงินสดคือ 15,000 บาท และจะแสดงมูลค่าเงินสดเป็น 55,000 บาทสำหรับงบดุล ณ 31 ธันวาคม 25X1



ข้อจำกัดในการใช้งบการเงินแต่ละประเภท 
          งบการเงินไม่ได้ให้ข้อมูลทุกประเภทที่ผู้ใช้งบการเงินต้องการในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ที่แสดงในงบการเงิน แสดงถึงผลกระทบทางการเงินจากเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน จึงมีข้อจำกัดบางประการในการใช้งบการเงินดังต่อไปนี้

          งบดุล ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญก็คือ สินทรัพย์ หนี้สิน และทุน สิ่งที่พึงระวังในการอ่านหรือพิจารณานำข้อมูลในงบดุลมาใช้ก็คือ คุณภาพของสินทรัพย์แต่ละรายการ อาทิเช่น สินค้าคงคลังที่ปรากฏในงบดุล อาจจะเป็นสินค้าล้าสมัย มูลค่าที่แท้จริงอาจจะต่ำกว่าที่ปรากฏไว้ในงบดุลนั้นก็ได้ เช่นเดียวกับรายการทางสินทรัพย์ถาวร เช่น โรงงาน ที่ดิน หรือเครื่องจักร รายการที่ปรากฏเป็นข้อมูลทางการบัญชี สินทรัพย์ถาวรเหล่านั้นอาจจะเป็นมูลค่าที่ซื้อมาเป็นเวลานานแล้วก็ได้ อาจจะไม่สอดคล้องกับมูลค่าในปัจจุบัน เช่น ที่ดิน อาจเป็นมูลค่าที่ซื้อมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท มูลค่าอาจจะน้อยมากๆ ถ้าราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา นอกจากนั้นสินทรัพย์บางรายการ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ หรือตรายี่ห้อ ที่มีบทบาทต่อการสร้างรายได้ให้กับกิจการ ก็ไม่ได้ปรากฏในงบดุล

          งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่สร้างตามหลักทางการบัญชี จับคู่รายได้กับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละงวด โดยไม่ได้คำนึงว่ารายได้หรือค่าใช้จ่ายนั้นเป็นเงินสดหรือไม่ ดังนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ที่กิจการหรือบริษัทขายสินค้าได้มาก และมีกำไรสุทธิในอัตราที่สูงแต่ไม่มีเงินสดเข้ามาในกิจการเลย เพราะการขายเป็นการขายเชื่อ และถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ กิจการนั้นๆ อาจจะประสบกับปัญหาขาดเงินสดที่จะไปดำเนินกิจการ เช่น ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนแก่พนักงาน หรือจ่ายดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ อาจส่งผลต่อการล้มละลายของกิจการก็เป็นได้





ที่มา : สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม http://www.ismed.or.th/SME2/src/upload/knowledge/117143278445d2a5503f52a.pdf

เริ่มต้นกับการเขียนบล็อกแรกในชีวิต

สวัสดีค่ะ

หลังจากที่ถูกใครบางคน ทั้งเคี่ยวทั้งเข็นมาตั้งนาน ว่าให้ลองเขียนบล็อก โดยเฉพาะความรู้ทางด้านวิชาการบัญชี เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน และใช้เป็นแหล่งความรู้บริการวิชาการ แต่จนแล้วจนรอด เราก็ยังไม่ได้ฤกษ์งามยามดีสักที จนมาถึงวันนี้ เห็นทีต้องลองดูสักหน่อยแล้วว่า มันยากเย็นสักเพียงไร

ในบล็อกแรกนี้ คงจะยังไม่มีเนื้อหาวิชาการอะไรนัก เพราะแค่อยากจะทดสอบและเรียนรู้ว่า เค้าเขียนบล็อกกันอย่างไร จะใส่รูปภาพอย่างไร จะตกแต่งหน้าบล็อกอย่างไร หรือการลิงค์ไปยังเนื้อหาต่างๆ เป็นต้น ซึ่งถ้าพอเริ่มจะจับแนวทางได้แล้ว ก็คงจะค่อยๆ ทะยอยเขียนออกมาเรื่อยๆ นะคะ ถ้าสนใจก็ลองติดตามดูก็แล้วกัน


ขอเชิญแวะไปเยี่ยมชมเว็บไซต์หลักของผู้เขียนได้ที่
https://sites.google.com/site/mkanogporn/